และปุ๋ยหมักชีวภาพ
เอทานอล
เอทานอล (ETHANOL)
อ้อย นอกจากจะมีประโยชน์ด้านอาหารคน อาหารสัตว์ ผลิตน้ำตาล เป็นเครื่องปรุงอาหาร หรือคุณค่าด้านอื่น ๆ เศษซากของอ้อยที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลที่เรียกว่า “โมลาส” ยังสามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานทางเลือกอย่าง “เอทานอล” เพื่อทดแทนการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศของไทยได้
เอทานอล เป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากการหมักพืช หรือเศษซากพืช ได้แก่ อ้อย กากน้ำตาล กากอ้อย มันสำปะหลัง มันเทศ หรือธัญพืชต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด ข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวฟ่าง โดยเปลี่ยนแป้งจากพืชให้เป็นน้ำตาลแล้วเปลี่ยนจากน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์อีกครั้ง แอลกอฮอล์ที่ทำให้บริสุทธิ์ 95% จะเรียกว่า เอทานอล (Ethanol)
การผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงในยานพาหนะ โดยวัตถุดิบกากน้ำตาล หรือโมลาส มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่หนึ่ง ผ่านกระบวนการหมักโดยใช้ยีสต์เปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์
ขั้นตอนที่สอง นำแอลกอฮอล์ที่ได้ไปกลั่นที่ความดันบรรยากาศ จะได้เอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ถึงร้อยละ 95.6
ขั้นตอนที่สาม นำไปผ่านการแยกน้ำออกอีกครั้ง จะได้เอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 99.5 เอทานอลมีค่าออกเทนสูง
ขั้นตอนที่สี่ นำไปผสมกับน้ำมันเบนซินเรียกว่า “น้ำมันแก๊สโซฮอล์” ถ้าผสมกับน้ำมันดีเซล เรียกว่า “น้ำมันดีโซฮอล์” ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้นอกจากนี้ยังสามารถใช้เอทานอลบริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิงได้โดยตรงโดยไม่ต้องผสมกับน้ำมันได้อีกด้วย
การใช้เอทานอล นอกจากจะเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนยานพาหนะแล้ว ยังเป็นเชื้อเพลิงที่ไร้มลพิษ มีการเผาไหม้ที่สมบูรณ์กว่าเชื้อเพลิงทั่วไป ช่วยลดการเกิดมลพิษในอากาศและเป็นผลดีต่อสภาวะแวดล้อมและมีฐานวัตถุดิบมาจากพืชซึ่งสามารถดูดซับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศได้
ภาพแสดงกระบวนการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล (Ethanol Production Process from Sugar Cane)
ขอบคุณภาพจาก บริษัท ไทยออยล์ เอทานอล จำกัด (TET)
ปุ๋ยหมักชีวภาพจากกากชานอ้อย
กากชานอ้อยสามารถนำมาทำเป็นส่วนผสมการทำปุ๋ยหมักได้ ด้วยการหมักกับปุ๋ยคอกหรือแกลบดิบ แล้วราดตามด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์ ทั้งนี้มีเกษตรกรบางรายนำกากอ้อยไปคลุกกับดินแล้วไถพรวนก่อนปลูกพืช เพื่อใช้เป็นอินทรียวัตถุปรับปรุงบำรุงดินได้โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี
กระบวนการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพจากกากอ้อย
มีส่วนผสมที่สำคัญ ได้แก่ กากตะกอนอ้อยหรือเศษใบอ้อยจำนวน 1,000 กก. มูลสัตว์จำนวน 200 กก. สารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 ของกรมพัฒนาที่ดิน 1 ซอง ส่วนวิธีการกองปุ๋ยหมัก
ขั้นตอนแรก นำเศษวัสดุที่จะใช้ทำปุ๋ยหมัก (กากตะกอนอ้อยหรือเศษใบอ้อย) มากองเป็นชั้นแรกขนาดกว้าง 2-3 เมตร สูงประมาณ 30-40 ซม. ย่ำให้แน่นและรดน้ำให้ชุ่ม
ขั้นตอนที่สอง นำมูลสัตว์ประมาณ 50 กก. มาโรยบนชั้นของวัตถุดิบให้ทั่วแล้วรดน้ำให้ชุ่ม
ขั้นตอนที่สาม นำสารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 ละลายน้ำ รดให้ทั่วกองและขั้นตอนสุดท้าย นำเศษวัสดุที่ใช้ทำปุ๋ยหมักมากองทับแล้วนำมูลสัตว์โรยทับให้ทั่วทั้งผิวหน้าเป็นอันเสร็จเรียบร้อย